Search

กีฬา - เมื่อฟุตบอลอังกฤษ(อด)รีสตาร์ท - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

blogpolitikgue.blogspot.com

วันอาทิตย์ ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2563, 07.15 น.

โคเวนทรี ซิตี้ อดีตแชมป์เอฟเอ คัพ 1987 ขึ้นสู่เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ได้สำเร็จรอบ 8 ปี

หลายคนกำลังใจจดจ่อรอการกลับมาของ “พรีเมียร์ลีก อังกฤษ” หรือ “โปรเจกท์รีสตาร์ท”

ทุกอย่างจะกลับมาดวลแข้งกันในวันพุธที่จะถึงนี้ หลังจากฟาดฟันกันมาหลายยกหลายโบก กว่าจะถึงวันนี้ได้ ทั้งจะเตะทั้งจะไม่เตะ ทั้งจะเลิกทั้งจะเล่น

รุงรังและรุ่มร่ามอย่างที่สุด

พรีเมียร์ลีก กับ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ได้ไปต่อ เมื่อยังมีเส้นทางการทำเงินทำทองโดยเฉพาะธุรกิจการถ่ายทอดสด ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศในเกาะตัวเอง แต่มีความหมายจากเงินตราทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม บอลอังกฤษ ไม่ได้ไปต่อทั้งหมด

ลีก วัน หรือดิวิชั่น 3 และลีก ทู หรือดิวิชั่น 4 จำเป็นต้อง “ตัดจบ” และ “ยุติการแข่งขัน”

เหตุผลที่ไม่สามารถไปต่อได้ ก็เนื่องมาจากปัจจัยทางการเงิน ที่ไม่มีรายรับหากเตะไปก็ไม่ได้เงิน กรณีสำคัญสั้นๆ ง่ายๆ มี 2 ข้อสำคัญ

1.แฟนบอลเข้าสนามไม่ได้

2.ไม่มีการถ่ายทอดสด

รายได้ไม่เข้า บวกกับการที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการตรวจโรค ทั้งที่ค่าใช้จ่ายตรงนี้คนละเรื่องกับพรีเมียร์ลีก นั่นเพราะเงิน 4 ล้านปอนด์ ที่พรีเมียร์จัดกระบวนการตรวจละเอียดยิบ

แต่งบประมาณค่าตรวจ 150,000 ปอนด์ ของบอลลีก ทู ไม่สามารถหามาใช้จ่ายได้

นักบอลนับพันคนกำลังหมดสัญญา บางคนหมดสัญญายืมตัว แต่บางคนหมดสัญญาถาวร ทำให้เกิดการว่างงานขึ้น เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าบอลจะกลับมาได้อีกเมื่อไหร่

การตัดจบ และคิดคะแนนเฉลี่ยคือทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุด และสุดท้ายก็ออกมาเป็นแบบนั้นจริงๆ ซึ่ง ลีก วันเหลือเกม 106 นัด และลีก ทู เหลืออีก 112 นัด

บทสรุปก็คือ ลีก วัน ทีมแชมป์คือ “ช้างกระทืบโรง” โคเวนทรี ซิตี้ จากคะแนนเฉลี่ย 1.97 แต้ม คว้าแชมป์ฤดูกาลนี้ไปครอง หลังจากปีก่อนเพิ่งร่วงไปเล่นระดับลีก 4 ในรอบ 59 ปี พร้อมกับคัมแบ๊กสู่แชมเปี้ยนชิพ หนแรกในรอบ 8 ปี

โคเวนทรี ควงคู่กับ ร็อตเธอร์แฮม ยูไนเต็ด 1.77 แต้ม คว้ารองแชมป์ขึ้นชั้นมาด้วยกัน

สโมสรบิวรี่ ล้มละลายไปเมื่อต้นซีซั่น แล้วตอนนี้ โควิด-19 กำลังซ้ำบอลอังกฤษ

อีก 1 ที่ว่างต้องรอการเพลย์ออฟ นั่นคือ วีคอมบ์ วันเดอเรอร์ส พบกับ ฟลีตวู้ดทาวน์ และอ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด เจอกับ พอร์ทสมัธ

น่าสนใจก็คือ วีคอมบ์ นั้นกระโดดจากอันดับ 8 แซงขึ้นมาได้อันดับ 3 ตามกฎการนับคะแนนเฉลี่ย

ในซีซั่นที่เตะกันอยู่ก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของโรค ปรากฏว่า อ็อกซ์ฟอร์ด อยู่ที่ 3, พอร์ทสมัธ อยู่ที่ 4 และฟลีตวู้ด ทาวน์ อยู่ที่ 5 โดยทั้งหมดนี้เตะ 35 นัดเท่ากัน และมี 60 คะแนนเท่ากัน ต่างตรงประตูได้เสีย

ปีเตอร์โบโร่ห์ ยูไนเต็ด ทีมอันดับ 6 ก็เตะ 35 นัด เช่นกัน มีอยู่ 59 คะแนน ประตูบวก 28 และซันเดอร์แลนด์ อยู่ที่ 7 เตะ 36 นัด มี 59 คะแนน ประตูบวก 16 และวีคอมบ์ อยู่ที่ 8 เตะ 34 นัด มี59 คะแนนเท่ากัน ประตูบวกอยู่ที่ 5 ลูก

แต่เมื่อนับคะแนนเฉลี่ย วีคอมบ์ กลับกลายเป็นทีมที่กระโดดมายึดอันดับ 3 ด้วยการเล่นน้อยกว่าทีมอื่นในโซนเดียวกัน โดยมี 1.74 คะแนน ขณะที่ อ็อกซ์ฟอร์ด, พอร์ทสมัธ และฟลีตวู้ด เท่ากันที่ 1.71 คะแนน ทำให้ ปีเตอร์โบโร่ห์ ที่เฉลี่ยออกมา 1.69 อกหักไม่ได้เพลย์ออฟ

ฝั่งโซนตกชั้น ก็คือ ทรานเมียร์โรเวอร์ส, เซาธ์เอนด์ ยูไนเต็ด และโบลตัน วันเดอเรอร์ส ส่วน บิวรี่ ล้มละลายไปแล้วก่อนหน้านี้

ฝั่ง ลีก ทู ซึ่งปีนี้โควตาจะขึ้นชั้นรวม 4 ทีม มาแน่นอนแล้ว 3 ทีม ก็คือสวินดอน ทาวน์ ทีมแชมป์, ครู อเล็กซานดร้าและพลีมัธ อาร์ไกล์ ส่วนเพลย์ออฟไม่มีอะไรรุงรังก็เป็น เชลแน่ม ทาวน์ พบกับ นอร์ธแฮมป์ตัน ทาวน์ และเอ็กซ์เตอร์ ซิตี้ พบกับ โคลเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการตกชั้นยังรอการตัดสิน เพราะ สตีฟเนจ คือทีมอันดับสุดท้ายก็จริง มีอยู่ 22 คะแนน แต่ แม็คเคิลส์ฟิลด์ ทาวน์ ทีมรองบ๊วย กำลังถูกพิจารณาตัดคะแนนสูงสุดอยู่ที่ 6 แต้ม จากเรื่องของสถานะการเงิน ที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเหนื่อยให้กับนักเตะ

ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสองทีมอาจจะถูกหวย เพราะอาจจะไม่ตกชั้น

หากว่าฟุตบอลนอกลีก หรือ เนชั่นแนล ลีก ไม่มีการแข่งขันในฤดูกาลหน้า

นี่คือประเด็นที่น่าสนใจมากๆ กับการจะได้ไปต่อหรือไม่ ทั้งจากโรคภัยไวรัส และสถานะทางการเงินที่ย่ำแย่อยู่แล้วของฟุตบอลอังกฤษระดับล่าง

ขอยกตัวอย่างสโมสรบิวรี่ อีกครั้ง ที่พวกเขาต้องล้มละลายไปอย่างเจ็บปวด

ไม่ทราบว่าทุกคนยังจดจำเหตุการณ์เมื่อต้นฤดูกาลได้หรือไม่...........

แฟนบอลบิวรี่ ทำหีบศพจำลองอาลัยทีม 

มีทีมฟุตบอลล้มละลาย และต้องถูกอัปเปหิออกจากวงการฟุตบอลอย่างเจ็บปวดที่สุด

“บิวรี่” สโมสรใน ลีกวัน หรือดิวิชั่น 3 ของวงการลูกหนังเมืองผู้ดี โดน สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ “เอฟเอ” ขับออกจากระบบอาชีพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากไม่สามารถปลดภาระหนี้สินจำนวน 2.7ล้านปอนด์ ได้ทันเวลา

เป็นปัญหาเรื้อรังมา 18 ปี ผลกระทบจากการล่มสลายของระบบการถ่ายทอดสดของ ITV Digital ในตอนนั้น ทำให้สโมสรกำลังจะถูกยึด

แต่แฟนบอลลงขันนำเงินมากู้วิกฤติหนนั้นไว้ได้

สุดท้ายพื้นฐานที่ไม่แข็งแรง เงินสำรองไม่พอ ทำให้ทีมต้องเจอกับฝันร้ายในวันนี้ และหวังว่าจะไม่ฝันร้ายไปตลอดกาล.....

....ครั้งนี้มีข้อเสนอถึง 7 แห่ง เข้ามาเพื่อ “อุ้มทีม” เอาไว้ไม่ให้ถูกปรับล้มละลายแต่ไม่สามารถผ่านเกณฑ์ของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ

ทำให้พวกเขาต้องหลุดวงโคจรไปอย่างเจ็บปวดที่สุด

เจ้าของฉายา “The Shakers” ที่ตั้งอยู่ในเกรตเตอร์ แมนเชสเตอร์ ได้รองแชมป์ลีกทู เมื่อปีก่อน แล้วขึ้นชั้นมาอยู่ลีก วัน ได้พยายามเดินหน้าหา กลุ่มทุนมาเทคโอเวอร์สโมสร แต่ท้ายที่สุดไม่สามารถหาได้ทันกำหนดเส้นตายในเวลา 17.00 น. ของวันอังคารที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ถูกไล่ออกจากระบบลีก อย่างน่าเศร้า

พวกเขาไม่มีเงินจ่ายพนักงาน, ไม่มีเงินจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะ รายงานล่าสุดคือมีนักเตะเหลืออยู่แค่ 7 คน และทีมงานทำทีมที่มี พอล วิลกินสัน เป็นกุนซือนั้น เหลืออยู่แค่ 3 คน อีก 7 คนออกจากสโมสรไปแล้ว

ถือเป็นทีมแรกในรอบ 27 ปีที่ถูกขับออกไปจากลีก โดยทีมล่าสุดคือ เมดสโตนเมื่อปี 1992 ยังผลให้ระบบลีกอาชีพปีนี้เหลือ 91 ทีม

ยังไม่ทราบชะตากรรมของนักเตะและพนักงานสโมสรว่าจะไปทางไหนกันต่อ แม้ว่าทีมจะสามารถกลับเข้าระบบพีระมิดของลีกได้ในซีซั่นหน้า หรือ 2020-21

การสูญเสียหนึ่งในสโมสรที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศในแบบนี้คือความอัปยศ

เพราะสโมสรแห่งนี้ได้ก่อตั้งขึ้นมา 134 ปี เมื่อ ค.ศ.1885 หรือ พ.ศ.2428 เมื่อวันที่ 24 เมษายน โดย ไอเดน อาร์โรวสมิธ ได้เป็นตัวตั้งตัวตีให้มีการประชุมกันที่ไวท์
ฮอร์ส โฮเทล เป็นการควบรวมทีมท้องถิ่นนั่นคือ บิวรี่ เวสเลยานส์ กับ บิวรี่ ยูนิตาเรียนส์ฟุตบอล คลับส์ เข้าด้วยกัน

สนามพวกเขาคือ กิจจ์ เลน เป็นหนึ่งในสนามฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก สร้างปี 1885 เช่นกัน

พวกเขาอยู่ในแถบเกรตเตอร์แมนเชสเตอร์ ถือสถิติในวงการฟุตบอลตลอดกาลได้อย่างน่าสนใจ

นั่นคือเป็นทีมที่ชนะในนัดชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ ด้วยสกอร์ขาดลอยที่สุด 6-0 เมื่อปี 1903 ก่อนจะถูกทาบสถิติโดยแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อซีซั่นที่ผ่านมา

เป็นทีมแรกในวงการฟุตบอลยุโรปที่ซื้อนักเตะอินเดียมาร่วมทัพ นั่นคือ ไบชุงภูเตีย เมื่อปี 1999 และใช้ชีวิตกับทีมนานถึง 5 ปี

ยอดเยี่ยมและน่าประหลาดใจที่สุดก็คือ พวกเขาเป็นทีมแรก และทีมเดียวในวงการฟุตบอลอังกฤษ ที่ยิงประตูได้ 1,000 ประตูครบทุกดิวิชั่น โดยสถิตินี้ถูกบันทึกเมื่อปี 2005

ยอดทีมแชมป์น็อกเอาท์ในยุคแรก

จับตาฟุตบอลระดับลีกรองของอังกฤษ จะล่มสลายอีกหรือไม่

พวกเขาเคยประสบความสำเร็จขั้นสูงสุดก็คือ แชมป์เอฟเอ คัพ 2 สมัย ปี 1900 กับ 1903

ครั้งแรกเอาชนะ เซาแธมป์ตัน 4-0 ทำทีมโดย แฮร์รี่ สเปนเซอร์ ฮาเมอร์ และครั้งที่ 2 ถลุง ดาร์บี้ เคาน์ตี้ 6-0 เป็นสถิติสูงสุดตลอดกาล กระทั่งมาถูกทาบเมื่อปีกลาย

น่าสนใจก็คือ พวกเขาเป็นแชมป์ปีนั้นแบบคลีนชีต จากการเล่นทั้งหมด5 เกม!!!!

อันดับสูงสุดในลีกที่เคยทำได้คือ อันดับ 4 ปี 1925-26 และลีกคัพ ผลงานดีที่สุดคือ รอบรองชนะเลิศ ปี 1962-63

นอกจากนี้เคยได้แชมป์ท้องถิ่นมาครองมากมาย อาทิ แลงคาเชียร์ คัพ 11 สมัย : 1892, 1899, 1903, 1906, 1926, 1958, 1983,1987, 2014, 2015, 2018, แลงคาเชียร์ จูเนียร์ คัพ : 1890, แมนเชสเตอร์ คัพ 12 สมัย : 1894, 1896, 1897, 1900, 1903, 1905, 1925,1935, 1951, 1952, 1962, 1968 และแชมป์ภูมิภาคนอร์ทเวสต์ 1 สมัย : 1939-40

ย้ำกันว่า โลกนี้ไม่ได้ร้ายไปซะหมด แต่โลกนี้ก็ไม่ได้ดีกันไปทุกเรื่อง ซึ่งฟุตบอลก็เช่นเดียวกัน

บางครั้งมันโหดร้ายแบบนี้จริงๆ ซึ่งเราอาจจะได้เห็นภาพแบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้นี้

จริงอยู่ว่า ระบบฟุตบอลอังกฤษ จะไม่ล่มสลายไปไหน และไม่ล่มไปต่อหน้าต่อตา

แต่นี่คือวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดในวงการเลยก็ว่าได้............

บี แหลมสิงห์




June 14, 2020 at 07:15AM
https://ift.tt/3feY7KW

กีฬา - เมื่อฟุตบอลอังกฤษ(อด)รีสตาร์ท - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://ift.tt/2BQJXBh


Bagikan Berita Ini

0 Response to "กีฬา - เมื่อฟุตบอลอังกฤษ(อด)รีสตาร์ท - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"

Post a Comment

Powered by Blogger.